เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [2. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[124] อานนท์ ในความเห็น 3 อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ในรูปขันธ์
ซึ่งไม่มีการเสวยอารมณ์ จะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ เกิดขึ้นได้หรือไม่”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา เพราะอัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์
[125] อานนท์ ในความเห็น 3 อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวย
อารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มี
อายุ ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้นไม่มีเหลือ เมื่อไม่มีเวทนา เพราะ
เวทนาดับไป โดยประการทั้งปวงยังจะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ ได้หรือไม่
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์
ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’
[126] อานนท์ ภิกษุใดไม่เห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ไม่เห็นการเสวยอารมณ์
ว่าเป็นอัตตา และไม่เห็นว่า ‘อัตตาของเรายังต้องเสวยอารมณ์ เพราะว่าอัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ ภิกษุนั้นเมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
และเมื่อไม่ถือมั่นย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมดับได้เฉพาะตน1
ย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นไม่สมควร ผู้ใดกล่าว

เชิงอรรถ :
1 ย่อมดับได้เฉพาะตน หมายถึงดับกิเลสได้ด้วยตนเอง (ที.ม.อ. 126/107)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :71 }