เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [2. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

(ความยึดมั่นในศีลพรต) หรืออัตตวาทุปาทาน(ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) ไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
อุปาทานดับไป ภพจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งภพ ก็คืออุปาทานนั่นเอง
[101] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา
คือ รูปตัณหา(อยากได้รูป) สัททตัณหา(อยากได้เสียง) คันธตัณหา(อยากได้กลิ่น)
รสตัณหา(อยากได้รส) โผฏฐัพพตัณหา(อยากได้โผฏฐัพพะ) และธัมมตัณหา (อยากได้
ธรรมารมณ์) ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอุปาทาน ก็คือตัณหานั่นเอง
[102] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าเวทนา คือ
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส และเวทนาที่เกิดจาก
มโนสัมผัส ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :60 }