เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’1

คำกราบทูลของเทวดา

[91] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงต้นราชสาละ ป่าสุภควัน
กรุงอุกกัฏฐะ ขณะที่เรานั้นหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เทวโลก
ชั้นสุทธาวาสที่เราไม่เคยอยู่มาเลยตลอดกาลนานนี้ ไม่ใช่ใคร ๆ จะเข้าถึงได้โดยง่าย
ยกเว้นเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส ทางที่ดี เราควรไปหาเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส’ จึงได้
หายไปจากควงต้นราชสาละนั้นไปปรากฏในเหล่าเทพชั้นอวิหาอย่างรวดเร็ว เหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป 91 กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติ
เป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระ
ชนมายุประมาณ 80,000 ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่
ที่เจริญ ได้แก่พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก 3 ครั้ง ครั้งที่ 1
มีภิกษุ 168,000 รูป ครั้งที่ 2 มีภิกษุ 100,000 รูป ครั้งที่ 3 มีภิกษุ
80,000 รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง 3 ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุ
อโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนาง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ธ. 25/183-185/49-50, ขุ.อุ. 25/36/151

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :51 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

พันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์
เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็น
อย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึง
ที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป 31 กัป พระสิขีพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในกัปที่ 31 นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น
ในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า
พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้า
พระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า
พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้
นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง 100 ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย1 ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่เจริญ ได้แก่
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ
1,250 รูป พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็น

เชิงอรรถ :
1 เกินไปอีกเล็กน้อย ในที่นี้หมายถึงคนมีอายุยืนเกิน 100 ปี สมัยพุทธกาล ได้แก่ พระมหากัสสปะ
พระอานนท์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี นางวิสาขา พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ
พราหมณ์พาวรี ทุกท่านมีอายุ 120 ปี พระอนุรุทธะมีอายุ 150 ปี พระพากุละมีอายุ 160 ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :52 }