เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
เป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้‘1
เมื่อทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ 5 อยู่
ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’

ภาณวารที่ 2 จบ

ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม2

[64] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระรำพึงดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรแสดงธรรม’ แต่ทรงพระดำริว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก
รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่
ประชานี้ เป็นผู้รื่นรมย์ในอาลัย3 ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชา
ผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก
กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา4 หลักปฏิจจสมุปบาท5 ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็น
ได้ยากนัก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้ง
ต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบาก
เปล่าแก่เรา’
[65] อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถา(คาถาอันน่าอัศจรรย์)เหล่านี้ที่ไม่ทรงสดับมา
ก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/41/69
2 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 4/7/11-12, ม.มู. (แปล) 12/281/305
3 อาลัย คือกามคุณ 5 ที่สัตว์พัวพันยินดีเพลิดเพลิน (วิ.อ. 3/7/13) เป็นชื่อเรียกกิเลส 2 อย่างคือกามคุณ 5
และตัณหาวิจริต 108 (สารตฺถ.ฏีกา 3/7/184)
4 อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความที่สิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้เกิดขึ้น หมายถึงสภาวธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะ
เป็นต้น เป็นชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท (สํ.นิ. (แปล) 16/21/38, สํ.นิ.อ. 2/20/46-47)
5 ปฏิจจสมุปบาท หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นปัจจัย และสภาวธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นอันเป็นกระบวน
การทางปัจยภาพ (causality) ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่อย่างนั้น แม้ว่าพระตถาคตจะเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่
ก็ตาม เช่น ชรามรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย (สํ.นิ. (แปล) 16/21/38, สํ.นิ.อ. 2/20/46-47)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :36 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
อนัจฉริยคาถา

อนัจฉริยคาถา

บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส1 ละเอียด ลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้2
เมื่อทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อ
จะทรงแสดงธรรม
[66] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งกำหนดรู้พระรำพึงของพระวิปัสสี
พุทธเจ้าด้วยใจจึงคิดว่า “ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ
เพราะพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมพระทัย
ไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงได้หายตัวไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์
ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
แล้วจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางพระวิปัสสี
พุทธเจ้าแล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเถิด ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง3
สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่
พระพุทธเจ้าข้า’
[67] เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอาราธนาอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าจึงได้
ตรัสกับท้าวมหาพรหมดังนี้ว่า ‘พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ‘ทางที่ดีเราควร
แสดงธรรม’ แต่ก็มาคิดว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก

เชิงอรรถ :
1 พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงพระนิพพาน (วิ.อ. 3/7/14)
2 วิ.ม. (แปล) 4/7/11
3 ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง หมายถึงผู้มีธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เพียงเล็กน้อยในดวงตาคือปัญญา (ที.ม.อ.
66/63)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :37 }