เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

[425] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงฆ่าบุรุษนี้ อย่าให้ผิว หนัง เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกช้ำ บางทีพวกเราจะได้
เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงฆ่าบุรุษนั้น
ไม่ให้ผิว หนัง เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกช้ำ เมื่อบุรุษนั้นใกล้ตาย โยมสั่งว่า
‘พวกท่านจงผลักให้เขานอนหงาย บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’
เมื่อราชบุรุษผลักให้เขานอนหงาย พวกเราก็ไม่ได้เห็นชีวะของเขาออกมาเลย โยมจึง
สั่งอีกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงพลิกให้เขานอนคว่ำ...’ ‘...ให้เขานอนตะแคงข้างหนึ่ง...’
‘...ให้นอนตะแคงอีกข้างหนึ่ง...’ ‘...จงพยุงให้ลุกขึ้น...’ ‘...จับศีรษะกดลง...’ ‘...ใช้ฝ่า
มือทุบ...’ ‘...ใช้ก้อนดินทุบ...’ ‘...ใช้ท่อนไม้ทุบ...’ ‘...ใช้ศัสตราทุบ..’ ‘...ลากมาลากไป
ลากไปลากมา บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ พวกราชบุรุษ
ลากบุรุษนั้นมาลากบุรุษนั้นไป ลากไปลากมา พวกเราก็ไม่เห็นชีวะของเขาเลย
ตาของเขาก็เหมือนเดิม รูปก็รูปเดิม ๆ แต่ตานั้นไม่รับรู้รูปนั้น หูของเขาก็หูเดิม
เสียงก็เสียงเดิม ๆ แต่หูนั้นไม่รับรู้เสียงนั้น จมูกของเขาก็จมูกเดิม กลิ่นก็กลิ่นเดิม ๆ
แต่จมูกนั้นไม่รับรู้กลิ่นนั้น ลิ้นของเขาก็ลิ้นเดิม รสก็รสเดิม ๆ แต่ลิ้นนั้นไม่รับรู้รสนั้น
กายของเขาก็กายเดิม โผฏฐัพพะก็โผฏฐัพพะเดิม ๆ แต่กายนั้นไม่รับรู้โผฏฐัพพะนั้น
ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :357 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

อุปมาด้วยการเป่าสังข์

[426] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว คนเป่าสังข์คนหนึ่งนำสังข์ไปยังปัจจันตชนบท เข้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ยืนอยู่กลางหมู่บ้านเป่าสังข์ขึ้น 3 ครั้ง วางสังข์ไว้ที่พื้นดินแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ลำดับนั้น ชาวปัจจันตชนบทแตกตื่นว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั้นเสียงใครกัน
น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’ จึงพากันล้อมคนเป่าสังข์
ถามว่า ‘พ่อคุณ นั่นเสียงใครกัน น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะ
อย่างนี้’
คนเป่าสังข์ตอบว่า ‘ท่านทั้งหลาย นี้เป็นเสียงสังข์ น่าพอใจ น่ารักใคร่
น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นจับสังข์นั้นให้หงายขึ้นแล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิ
พ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง พวกเขาจับสังข์ให้คว่ำหน้าลง ... จับสังข์ให้ตะแคงข้าง
หนึ่ง ... จับสังข์ให้ตะแคงอีกข้างหนึ่ง ... ยกสังข์ให้สูงขึ้น ... วางสังข์ให้ต่ำลง ... ใช้ฝ่ามือ
เคาะ ... ใช้ก้อนดินเคาะ .... ใช้ท่อนไม้เคาะ ... ใช้ศัสตราเคาะ ... ลากมาลากไป
ลากไปลากมา แล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิพ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง
คนเป่าสังข์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ชาวปัจจันตชนบทเหล่านี้ช่างโง่เขลาจริง
ไฉนจึงแสวงหาเสียงสังข์โดยไม่ถูกวิธีอย่างนี้เล่า’ ขณะที่ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้น
กำลังมุงดูอยู่ เขาจึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า 3 ครั้งแล้วถือสังข์เดินไป
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นพูดกันว่า ‘ท่านทั้งหลาย เมื่อสังข์นี้มีคน มีความ
พยายาม และมีลมจึงส่งเสียงได้ เมื่อสังข์นี้ไม่มีคน ไม่มีความพยายาม และไม่มีลม
ก็ส่งเสียงไม่ได้’
บพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อกายนี้ยังมีอายุ มีไออุ่นและมีวิญญาณ จึงก้าว
ไปได้ ถอยกลับได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เห็นรูปทางตาได้ ฟังเสียงทางหูได้ ดมกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :358 }