เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
วิญญาณจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ’
[61] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘ทางเพื่อความตรัสรู้ เราได้บรรลุแล้ว คือ

เพราะนามรูปดับ___วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ___นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ___สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ___ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ___เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ___ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ___อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ___ภพจึงดับ
เพราะภพดับ___ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ___ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

[62] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ในธรรมทั้งหลายที่ไม่
เคยสดับมาก่อนว่า ‘นิโรธ นิโรธ (ความดับ ความดับ)’
[63] จากนั้น ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทาน-
ขันธ์ 5 อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูป
เป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง
เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
เป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้‘1
เมื่อทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ 5 อยู่
ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’

ภาณวารที่ 2 จบ

ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม2

[64] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระรำพึงดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรแสดงธรรม’ แต่ทรงพระดำริว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก
รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่
ประชานี้ เป็นผู้รื่นรมย์ในอาลัย3 ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชา
ผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก
กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา4 หลักปฏิจจสมุปบาท5 ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็น
ได้ยากนัก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้ง
ต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบาก
เปล่าแก่เรา’
[65] อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถา(คาถาอันน่าอัศจรรย์)เหล่านี้ที่ไม่ทรงสดับมา
ก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/41/69
2 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 4/7/11-12, ม.มู. (แปล) 12/281/305
3 อาลัย คือกามคุณ 5 ที่สัตว์พัวพันยินดีเพลิดเพลิน (วิ.อ. 3/7/13) เป็นชื่อเรียกกิเลส 2 อย่างคือกามคุณ 5
และตัณหาวิจริต 108 (สารตฺถ.ฏีกา 3/7/184)
4 อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความที่สิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้เกิดขึ้น หมายถึงสภาวธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะ
เป็นต้น เป็นชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท (สํ.นิ. (แปล) 16/21/38, สํ.นิ.อ. 2/20/46-47)
5 ปฏิจจสมุปบาท หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นปัจจัย และสภาวธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นอันเป็นกระบวน
การทางปัจยภาพ (causality) ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่อย่างนั้น แม้ว่าพระตถาคตจะเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่
ก็ตาม เช่น ชรามรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย (สํ.นิ. (แปล) 16/21/38, สํ.นิ.อ. 2/20/46-47)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :36 }