เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [9. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 ประการ

2 เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ตลอด 1 เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
1 เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ตลอดครึ่งเดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
ภิกษุทั้งหลาย ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ตลอด 7 วัน
พึงหวังได้ผลอย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมี
อุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
[405] ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำ
ให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ เราอาศัยทางเดียวนี้แล้ว
จึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาสติปัฏฐานสูตรที่ 9 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] เรื่องเจ้าปายาสิ

10. ปายาสิสูตร
ว่าด้วยเจ้าปายาสิ

[406] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปะกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป ถึงเมืองเสตัพยะของชาวโกศล พักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด
ทางทิศเหนือเมืองเสตัพยะ สมัยนั้น เจ้าปายาสิปกครองเมืองเสตัพยะ ซึ่งมีประชากร
และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร และน้ำ หญ้าอุดมสมบูรณ์ มีพระราชทรัพย์
ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย1

เรื่องเจ้าปายาสิ

[407] สมัยนั้น เจ้าปายาสิมีความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “แม้เพราะเหตุนี้
โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์2ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี” พราหมณ์
และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะได้ฟังข่าวว่า “ท่านสมณกุมารกัสสปะ ผู้เป็นสาวกของ
พระสมณโคดมกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
500 รูป ถึงเมืองเสตัพยะโดยลำดับ กำลังพักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดทางทิศเหนือเมือง
เสตัพยะ ท่านสมณกุมารกัสสปะนั้น มีชื่อเสียงดีงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘เป็นผู้ฉลาด
เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ ปฏิภาณดี เป็นผู้เจริญและ
เป็นพระอรหันต์ การได้เห็นพระอรหันต์เช่นนั้นเป็นการดีแท้’ จากนั้น พราหมณ์และ
คหบดีชาวเมืองเสตัพยะออกจากเมืองเสตัพยะ เดินรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้า
ไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด

เชิงอรรถ :
1 พรหมไทย ในที่นี้หมายถึงการให้อันประเสริฐ คือ สิ่งที่พระราชทานแล้ว จักไม่ยึดกลับคืนมาอีก (ที.สี.อ.
229/221)
2 โอปปาติกสัตว์ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้
เช่น เทวดาและสัตว์นรก (ที.สี.อ. 171/149)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :341 }