เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [9. มหาสติปัฏฐานสูตร] อุทเทส

9. มหาสติปัฏฐานสูตร
การเจริญสติปัฏฐาน1สูตรใหญ่

[372] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุทเทส

[373] “ภิกษุทั้งหลาย ทาง2นี้เป็นทางเดียว3 เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม4 เพื่อทำให้
แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน5 4 ประการ
สติปัฏฐาน 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

เชิงอรรถ :
1 ม.มู. (แปล) 12/105/101, สํ.ม. (แปล) 19/367/210-211, อภิ.วิ.(แปล) 35/355-389/306-327
2 ทาง หมายถึงทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน หรือ ทางที่ผู้ต้องการพระนิพพานควรดำเนินไป (ที.ม.อ.
371/361)
3 ทางเดียว หมายถึง (1) เป็นทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ไปประพฤติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว
(2) เป็นทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ พระผู้มีพระภาค
เพราะทรงทำให้เกิดขึ้น (3) เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนา (4) เป็นทางดำเนินไปสู่จุด
หมายเดียว คือพระนิพพาน (ที.ม.อ. 373/359)
4 ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. 214/197)
5 สติปัฏฐานแปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. 373/368, ม.มู.อ.
1/106/253)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :301 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [9. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
3. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[374] ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง1ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์2
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า3 มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’

เชิงอรรถ :
1 เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือเสนาสนะ 7 อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (1) ภูเขา (2) ซอกเขา
(3) ถ้ำ (4) ป่าช้า (5) ป่าชัฏ (6) ที่แจ้ง (7) ลอมฟาง ดูข้อ 320 หน้า 248 ในเล่มนี้
2 นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งขัดสมาธิ (วิสุทฺธิ. 1/218/295)
3 ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิสุทฺธิ. 1/218/295)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :302 }