เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด จอมเทพ”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ที่เข้าใจว่า ‘เป็นผู้
อยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะอันสงัด’ แล้วถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น เมื่อถูกถาม
ก็ตอบไม่ได้กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านชื่ออะไร’ เมื่อถูกย้อนถาม ข้าพระองค์
จึงตอบว่า ‘เราชื่อท้าวสักกะจอมเทพ’ ท่านเหล่านั้นก็ยังถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านทำ
กรรมอะไรจึงถึงฐานะอันนี้เล่า’ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรม1ตามที่ได้ฟังที่ได้เรียนมา
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และท้าวเธอได้ตรัสตอบปัญหาที่พวกเราถาม’ ท่านเหล่านั้นยอมเป็นสาวกของ
ข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์ไม่ยอมเป็นสาวกของท่านเหล่านั้น แต่(บัดนี้)ข้าพระองค์
เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า2”

เรื่องการได้โสมนัส

[368] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ยังทรงจำการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้หรือไม่”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ก่อนแต่นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พระองค์ยังทรงจำการได้ความยินดี การได้โสมนัส
เช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้ว่าอย่างไร”

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงวัตตบท ได้แก่ ข้อที่ถือปฏิบัติประจำที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มี 7 อย่าง คือ (1) มาตาเปติภโร (เลี้ยงมารดาบิดา) (2) กุเลเชฏฺฐาปจายี (เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล)
(3) สณฺหวาโจ (พูดคำสุภาพอ่อนหวาน) (4) อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี (ไม่พูดส่อเสียด
พูดสมานสามัคคี) (5) ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย (ยินดีในการแจกทาน ปราศจากความตระหนี่)
(6) สจฺจวาโจ (มีวาจาสัตย์) (7) อโกธโน หรือ โกธาภิภู (ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้) (ที.ม.อ. 363/348)
2 ดูคำอธิบายใน สกฺกวตฺถุ ธมฺมปทฏฺฐกถา ฉฏฺโฐ ภาโค สุขวคฺควณฺณนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :295 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ท้าวเธอกราบทูลว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อครั้งเกิด
สงครามระหว่างเทพกับอสูรถึงขั้นรบประชิด ในสงครามนั้นพวกเทพชนะ พวกอสูร
พ่ายแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามจึงมีความคิดว่า ‘บัดนี้พวกเทพในเทวโลกจะ
บริโภคโอชา (รส) 2 ประการ คือ ทิพยโอชาและอสูรโอชา’ การได้ความยินดี
การได้โสมนัสของข้าพระองค์นั้นเป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็น
ไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนการได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ ไม่เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
[369] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงพิจารณาเห็น
อำนาจประโยชน์1อะไร จึงทรงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ 6 ประการ
จึงได้ประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 1 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์เกิดเป็นเทพดำรงอยู่ในที่นี้2
ข้าพระองค์กลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 2 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายทิพย์
ละอายุของอมนุษย์ เป็นผู้ไม่หลง
จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลที่ข้าพระองค์มีใจยินดี’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

เชิงอรรถ :
1 อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุ (องฺ.ทุก.อ. 2/201/74)
2 ในที่นี หมายถึงในถ้ำอินทสาละ (ที.ม.ฏีกา 369/344)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :296 }