เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

ท้าวเธอทูลถามว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุ
มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีอารมณ์
อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักมีฉันทะ1
เป็นต้นเหตุ มีฉันทะเป็นเหตุเกิด มีฉันทะเป็นกำเนิด มีฉันทะเป็นแดนเกิด เมื่อมี
ฉันทะจึงมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีฉันทะจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่
รักและไม่เป็นที่รัก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ฉันทะมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีฉันทะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ฉันทะมีวิตก2เป็นต้นเหตุ มีวิตกเป็นเหตุเกิด
มีวิตกเป็นกำเนิด มีวิตกเป็นแดนเกิด เมื่อมีวิตกจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีวิตกจึงไม่
มีฉันทะ”
ท้าวเธอทูลถามว่า “วิตกมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีวิตก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีวิตก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วิตกมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา3เป็นต้นเหตุ
มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นเหตุเกิด มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นกำเนิด มีแง่

เชิงอรรถ :
1 ฉันทะ แปลว่าความพอใจ แต่ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้จักอิ่มคือตัณหา มี 5 อย่างคือ (1) ปริเยสนฉันทะ
(ความไม่อิ่มในการแสวงหา) (2) ปฏิลาภฉันทะ (ความไม่อิ่มในการได้มา) (3) ปริโภคฉันทะ (ความไม่อิ่ม
ในการใช้สอย) (4) สันนิธิฉันทะ (ความไม่อิ่มในการกักตุน) (5) วิสัชชนฉันทะ (ความไม่อิ่มในการจ่ายทรัพย์)
(ที.ม.อ. 338/335-336)
2 วิตก แปลว่าการตรึก การไตร่ตรอง ในที่นี้หมายถึงการตรึกเพื่อการตัดสิน 2 อย่าง คือ (1) ตัณหาวินิจฉัย
(การตัดสินด้วยอำนาจตัณหา) (2) ทิฏฐิวินิจฉัย (การตัดสินด้วยอำนาจทิฏฐิ) (ที.ม.อ. 358/336)
3 แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา แยกอธิบายตามศัพท์ได้ดังนี้ แง่ต่าง แปลจากคำว่า สงฺขา คือส่วนต่าง ๆ
หมายถึงส่วนต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา ปปัญจะ หมายถึงปปัญจธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แก่ ตัณหาวิจริต 108 มานะ 9 และทิฏฐิ 62 ซึ่งเป็นเหตุให้มีความประมาทมัวเมา มีความประมาท
มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ในความไม่มีโรค และในชีวิต ปปัญจสัญญา หมายถึงสัญญา(ความกำหนดหมาย)
ที่ประกอบด้วยปปัญจธรรม คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่ในที่นี้หมายเอาเพียงตัณหาเท่านั้น
ดังนั้น คำว่า “แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา” จึงหมายถึงการคิดปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยอำนาจตัณหา
มานะ และทิฏฐิของตน ๆ จึงเกิดแง่ต่าง ๆ หรือมุมมองที่แตกต่างกันทั้ง ๆ ที่คิดเรื่องเดียวกัน (ที.ม.อ. 358/
336, ที.ม.ฏีกา 358/321-322)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :286 }