เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [7. มหาสมยสูตร]
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

จากนั้น เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น
มีจิตมั่นคง ทำจิตของตน ๆ ให้ตรง
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ไว้
เหมือนสารถีผู้กุมบังเหียนขับรถม้าไป”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ภิกษุเหล่านั้นตัดกิเลสดังตะปู1
ตัดกิเลสดังลิ่มสลัก ถอนกิเลสดังเสาเขื่อนได้แล้ว
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เที่ยวไป
เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ2ทรงฝึกดีแล้ว
เหมือนช้างหนุ่ม ฉะนั้น”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“เหล่าชนผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
จักไม่ไปสู่อบายภูมิ ครั้นละกายมนุษย์แล้ว
จักทำให้หมู่เทพเจริญเต็มที่”3

เชิงอรรถ :
1 กิเลสดังตะปู ในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ กิเลสดังลิ่มสลัก และกิเลสดังเสาเขื่อน ก็มีนัยเช่น
เดียวกัน (ที.ม.อ. 332/296)
2 มีพระจักษุ หมายถึงมีพระจักษุ 5 คือ 1. มังสจักขุ (ตาเนื้อ) 2. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) 3. ปัญญาจักขุ
(ตาปัญญา) 4. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) 5. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ขุ.ม. (แปล) 29/11/55, ที.ม.อ.
186/169, 334/300)
3 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/37/49-50

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :260 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [7. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

การประชุมของเทวดา

[333] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเทวดาจำนวนมากใน 10 โลกธาตุประชุมกันเพื่อเยี่ยมตถาคตและ
ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับพวกเทวดาของ
เรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตกาลที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับ
พวกเทวดาของเรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ เราจักบอกชื่อของหมู่เทพ จักระบุ
ชื่อของหมู่เทพ จักแสดงชื่อของหมู่เทพ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
[334] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“เรา1จะกล่าวเป็นคาถา
เหล่าภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในที่ใด
เหล่าภิกษุก็อาศัยอยู่ในที่นั้น
ภิกษุเหล่าใดอาศัยซอกเขา
มีจิตมุ่งมั่น มีจิตตั้งมั่น
พวกเธอมีจำนวนมากเร้นอยู่ เหมือนราชสีห์
ข่มความขนพองสยองเกล้าได้
มีจิตสะอาด หมดจดผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
พระศาสดาทรงทราบว่ามีภิกษุกว่า 500 รูป
ผู้อยู่ในป่า ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์

เชิงอรรถ :
1 เรา ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค (ที.ม.อ. 334/299)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :261 }