เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว แบ่งมหาปฐพีนี้
ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ให้เป็น
ส่วนแบ่งอย่างดี 7 ส่วนเท่า ๆ กัน สถาปนารัฐ(อาณาจักร)ทั้งหมดให้มีลักษณะ
เหมือนส่วนหน้าของเกวียน ทราบว่าในเนื้อที่เหล่านั้น ชนบท(มหาอาณาจักร)ของ
พระเจ้าเรณุอยู่ตรงกลางรัฐทั้งหมดนั้น (คือ)
[309] ท่าน(มหา)โควินทะให้สร้างเมืองหลวงเหล่านี้ไว้ (คือ)
ให้สร้างกรุงทันตปุระ เป็นเมืองหลวงของรัฐกาลิงคะ
ให้สร้างกรุงโปตนะ เป็นเมืองหลวงของรัฐอัสสกะ
ให้สร้างกรุงมาหิสสติ เป็นเมืองหลวงของรัฐอวันตี
ให้สร้างกรุงโรรุกะ เป็นเมืองหลวงของรัฐโสวีรานะ
ให้สร้างกรุงมิถิลา เป็นเมืองหลวงของรัฐวิเทหะ
ให้สร้างกรุงจัมปา เป็นเมืองหลวงของรัฐอังคะ
ให้สร้างกรุงพาราณสี เป็นเมืองหลวงของรัฐกาสี
[310] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้งนั้น กษัตริย์ 6 พระองค์ มีพระทัยยินดี
ด้วยลาภส่วนของพระองค์ มีพระดำริสำเร็จบริบูรณ์ว่า ‘สิ่งใดที่เราอยากได้ สิ่งใดที่
เราหวัง สิ่งใดที่เราประสงค์ สิ่งใดที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง สิ่งนั้นเราได้แล้ว’
พระเจ้าสัตตภู พระเจ้าพรหมทัต
พระเจ้าเวสสภู พระเจ้าภรตะ
พระเจ้าเรณุ พระเจ้าธตรฐ 2 พระองค์
รวมพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์
ในเวลานั้นมี 7 พระองค์1

ภาณวารที่ 1 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

[311] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา กษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์เสด็จเข้าไป
หาท่านโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่ ได้ตรัสดังนี้ว่า ‘ขอท่านโควินทพราหมณ์จงเป็นสหาย
ที่รัก ที่ชอบใจ ที่โปรดปรานของพวกเราดังที่ท่านโควินทะเป็นสหายที่รัก ที่ชอบใจ
ที่โปรดปรานของพระเจ้าเรณุ ขอจงให้คำปรึกษาพวกเรา อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษา
พวกเราเลย’
มหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสของกษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์
เหล่านั้นผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับราชกิจแด่กษัตราธิราช
ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว 7 พระองค์ ที่ตนต้องถวายคำปรึกษา และบอกมนตร์แก่
พราหมณมหาศาล 7 คน และพราหมณ์นหาดก1 700 คน
[312] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้นต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์มี
กิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระ
พรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’
ครั้งนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความดำริดังนี้ว่า ‘เรามีกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถ
สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่เราไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคย
สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย เราได้สดับคำของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌาน2
ตลอด 4 เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหม สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’
ทางที่ดี เราควรหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก 4 เดือน’

เชิงอรรถ :
1 พราหมณ์นหาดก ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์ที่สำเร็จการศึกษา และได้ผ่านพิธีอาบน้ำเสร็จแล้ว (พ้นจากอา
ศรมที่ 1 คือพรหมจารีแล้วเข้าสู่อาศรมที่ 2 คือคฤหัสถ์ ตามคติของพราหมณ์ (ที.ม.อ. 311/276)
2 กรุณาฌาน หมายถึงฌานที่ประกอบด้วยวิหารธรรม 4 ประการ อันบุคคลเจริญโดยมีกรุณาเป็นตัวนำ
(ที.ม.อ. 317/277)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :243 }