เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] เรื่องมหาโควินทะ

ของเขาเสียอีกยัง เขาสามารถถวายคำปรึกษาอรรถคดีอย่างที่บิดาของเขาได้ถวายคำ
ปรึกษา’
พระเจ้าทิสัมบดีตรัสถามว่า ‘อย่างนั้นหรือ ลูก’
พระราชบุตรเรณุทูลตอบว่า ‘อย่างนั้น พระเจ้าข้า’

เรื่องมหาโควินทะ

[305] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่งเรียกราชบุรุษ
คนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มานี่พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ บอกกับ
โชติปาลมาณพอย่างนี้ว่า ‘ขอให้โชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดี
รับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่
บอกเขาดังนี้ว่า ‘ขอให้ท่านโชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดี
รับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’
โชติปาลมาณพรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าทิสัมบดีถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ทรงระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่
สมควร พระเจ้าทิสัมบดีได้ตรัสกับโชติปาลมาณพดังนี้ว่า ‘ท่านโชติปาลมาณพ
จงให้คำปรึกษาเราเถิด อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษาเราเลย เราจะแต่งตั้งท่านให้
ดำรงตำแหน่งแทนบิดา จะทำพิธีอภิเษกไว้ในตำแหน่งโควินทพราหมณ’ โชติปาลมาณพ
ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกโชติปาลมาณพไว้
ในตำแหน่งโควินทะ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดา
โชติปาลมาณพผู้ได้รับอภิเษกแต่งตั้งในตำแหน่งแทนบิดา ได้ถวายคำปรึกษา
อรรถคดีที่บิดาเคยถวายคำปรึกษา ถวายคำปรึกษาอรรถคดีที่บิดาไม่เคยถวายคำ
ปรึกษา จัดแจงการงานที่บิดาเคยจัดแจง จัดแจงการงานที่บิดาไม่เคยจัดแจง
ชาวบ้านจึงเรียกโชติปาลมาณพว่า ‘ท่านโควินทพราหมณ์ผู้เจริญ ท่านโควินท-
พราหมณ์ผู้เจริญ’ เพราะเหตุนี้แหละ โชติปาลมาณพจึงเกิดมีสมญาว่า ‘โควินทะ
มหาโควินทะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :239 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

การแบ่งราชสมบัติ

[306] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าเฝ้า
กษัตริย์ 6 พระองค์ถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลกษัตริย์ 6 พระองค์นั้นดังนี้ว่า
‘ขอเดชะฝ่าพระบาท พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไป
โดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการจะพึงอภิเษก
พระราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็นไป
ได้แน่นอน ขอท่านผู้เจริญเสด็จมาเถิด จงพากันไปเข้าเฝ้าพระราชบุตรเรณุถึงที่
ประทับแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นพระสหายที่รัก ที่ถูกพระทัย
ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย เมื่อท่าน
เรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
จะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็น
ไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉันบ้าง’
กษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์นั้นทรงรับคำของมหาโควินทพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้า
ราชบุตรเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นสหายที่รัก ที่ถูก
พระทัย ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย
เมื่อท่านเรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
จะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้น
เป็นไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉัน
บ้าง’ พระราชบุตรเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของเรา
ใครอื่นเล่าจะพึงมีความสุขนอกจากท่านทั้งหลาย ถ้าหม่อมฉันได้ครองราชย์ก็จะ
แบ่งราชสมบัติให้ท่านทั้งหลาย’
[307] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมาครั้นวันคืนผ่านไป พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคต
เมื่อท้าวเธอสวรรคต อำมาตย์ผู้สำเร็จราชการได้อภิเษกราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้า
แผ่นดิน ราชบุตรเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม
ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ 5

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :240 }