เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] คนชรา

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี
ความแก่’
[45] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง
พอพระทัยในพระอุทยาน’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด
พระเนตรเห็นชายชรา ผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้า
งก ๆ เงิ่น ๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า
‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของ
คนอื่นๆ’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :23 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] คนเจ็บ

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่’ พระเจ้าข้า

คนเจ็บ

[46] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ 5 มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์
จะผิดพลาด
พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ 5
ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสี-
ราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ
คันงาม ๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ
ประพาสอุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[47] เมื่อเสด็จประพาสอุทยานอีก พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตร
เห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะของตน
คนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูก
ใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :24 }