เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] ม้าแก้ว

ช้างแก้ว

[246] 2. ช้างแก้วซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไป
ในอากาศได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ1 ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือช้าง
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ ทันใดนั้น ช้างแก้วเชือกนั้นได้รับการ
ฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยพันธุ์ดีตระกูลคันธหัตถี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอด
กาลนาน อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบช้างแก้วเชือกนั้น โดยเสด็จ
ขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จเลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จ
กลับกรุงกุสาวดีราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้
ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

ม้าแก้ว

[247] 3. ม้าแก้วซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์
เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้า
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท‘’ ทันใดนั้น ม้าแก้วตัวนั้นได้รับการ
ฝึกหัด เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน อานนท์
เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบม้านั้น โดยเสด็จขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จ
เลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับกรุงกุสาวดีราชธานี
ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้า
มหาสุทัสสนะ

เชิงอรรถ :
1 พญาช้างตระกูลอุโบสถ ในที่นี้หมายถึงช้างมงคลตระกูล 1 ในบรรดา 10 ตระกูล คือ (1) กาฬวกหัตถี
(สีดำ) (2) คังไคยหัตถี (สีเหมือนน้ำไหล) (3) ปัณฑรหัตถี (สีขาวดังเขาไกรลาส) (4) ตามพหัตถี (สีทองแดง)
(5) ปิงคลหัตถี (สีทองอ่อนดังสีตาแมว) (6) คันธหัตถี (สีไม้กฤษณา มีกลิ่นตัวหอม) (7) มังคลหัตถี
(สีนิลอัญชัน มีกิริยาท่าทางเดินงดงาม) (8) เหมหัตถี (สีเหลืองดั่งทอง) (9) อุโบสถหัตถี (สีทองคำ)
(10) ฉัททันตหัตถี (กายสีขาวบริสุทธิ์ดังสีเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง) (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525) ในช้างมงคล 10 ตระกูลนี้ ช้างอุโบสถประเสริฐที่สุด (ที.ม.อ. 246/234)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :185 }