เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] กุสาวดีราชธานี

กรุงกุสาวดีราชธานี มีกำแพงล้อม 7 ชั้น ได้แก่ (1) กำแพงทอง (2) กำแพงเงิน
(3) กำแพงแก้วไพฑูรย์ (4) กำแพงแก้วผลึก (5) กำแพงแก้วโกเมน (6) กำแพงแก้ว
บุษราคัม (7) กำแพงทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีประตู 4 สี ได้แก่ (1) ประตูทอง
(2) ประตูเงิน (3) ประตูแก้วไพฑูรย์ (4) ประตูแก้วผลึก แต่ละประตูมีเสาระเนียด
ปักไว้ประตูละ 7 ต้น ได้แก่ (1) เสาทอง (2) เสาเงิน (3) เสาแก้วไพฑูรย์
(4) เสาแก้วผลึก (5) เสาแก้วโกเมน (6) เสาแก้วบุษราคัม (7) เสาทำด้วยรัตนะ
ทุกอย่าง แต่ละเสาวัดโดยรอบ 3 ชั่วบุรุษ ฝังลึก 3 ชั่วบุรุษ สูง 12 ชั่วบุรุษ1
กรุงกุสาวดีราชธานีมีต้นตาลล้อม 7 แถว ได้แก่ ต้นตาลทอง 1 แถว ต้นตาลเงิน
1 แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ 1 แถว ต้นตาลแก้วผลึก 1 แถว ต้นตาลแก้วโกเมน
1 แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม 1 แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง 1 แถว
ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ
ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก
ต้นตาลแก้วผลึก มีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้วโกเมน
มีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัม มีลำต้น
เป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีลำต้น
ทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า2 ที่บุคคลปรับเสียงดี ประโคมดีแล้ว บรรเลง
โดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้มฉันใด แถวต้น
ตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม
ฉันนั้น สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง
ตามเสียงแถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ชั่วบุรุษ ในที่นี้หมายถึงชื่อมาตราวัดโบราณ 1 ชั่วบุรุษเท่ากับ 5 ศอก (ที.ม.อ. 241-242/225)
2 ดนตรีเครื่องห้า คือ (1) อาตฏะ กลองที่หุ้มหนังหน้าเดียว (เช่น กลองยาว) (2) วิตฏะ กลองหุ้มทั้ง 2 หน้า
(เช่น ตะโพน) (3) อาตฏวิตฏะ กลองหุ้มหนังโดยรอบ(เช่น บัณเฑาะว์) (4) สุสิระ เครื่องเป่า(เช่น ปี่และสังข์)
(5)ฆนะเครื่องประโคม (เช่น ฉาบฉิ่ง) (ที.ม.อ. 242/226)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :182 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] จักรแก้ว

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ1
จักรแก้ว

[243] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ
และฤทธิ์(ความสำเร็จ) 4 ประการ
แก้ว 7 ประการ อะไรบ้าง
คือ ในเรื่องแก้ว 7 ประการนี้
1. เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ 15 ค่ำ รักษา
อุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีกำ 1,000 ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทอดพระเนตรแล้ว
ทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้ว่า ‘กษัตราธิราชพระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ทรงสนานพระเศียรในวันอุโบสถ 15 ค่ำ รักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม
จะปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำ 1,000 ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบ
ทุกอย่าง กษัตราธิราชพระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
กระมัง”
[244] ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษา
เฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้น ตรัสว่า
‘จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไป
ทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม
พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์
ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า
พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์
โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ปา. 11/85-87/52-54, ม.อุ. 14/256-259/223-228

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :183 }