เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

สุภัททปริพาชก ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค
แล้วแล เมื่อท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่1 ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่าท่านสุภัททะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านได้เป็นสักขิสาวก2 องค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค

ภาณวารที่ 5 จบ

พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

[216] ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ‘ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’
ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอ
ทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุไม่ควรเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า ‘อาวุโส‘3
เหมือนดังที่เรียกกันตอนนี้ ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือตระกูล
โดยวาทะว่า ‘อาวุโส’ ก็ได้ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ‘ภันเต’ หรือ

เชิงอรรถ :
1 อุทิศกายและใจอยู ในที่นี้หมายถึงมุ่งที่จะบรรลุอรหัตตผล โดยไม่ห่วงอาลัยต่อร่างกายและชีวิตของตน
(ที.ม.อ. 204/190, สารตฺถ.ฏีกา 3/243/353)
2 สักขิสาวก แปลว่า พระสาวกที่ทันเห็นองค์พระพุทธเจ้า มี 3 พวก คือ (1) ผู้บรรพชาอุปสมบท เรียน
กัมมัฏฐาน บรรลุอรหัตตผลเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ (2) ผู้ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อ
พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ต่อมาได้เรียนกัมมัฏฐานและบรรลุอรหัตตผล (3) ผู้ได้เรียนกัมมัฏฐาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ พระสุภัททะจัดอยู่ในพวกที่ 1 (ที.ม.อ. 215/198) ดูเทียบ ที.สี.
(แปล) 9/405/174, ม.ม. 13/222/195-196, สํ.ส. (แปล) 15/196/281
3 อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าใช้เรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่า ใช้เรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. 316/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :164 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

‘อายัสมา’ ก็ได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบท
เล็กน้อย1เสียบ้างก็ถอนได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่
ภิกษุฉันนะ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดได้ตามต้องการ
แต่ภิกษุไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพร่ำสอนเธอ”
[217] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลายจงถามเถิด
จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า ‘พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะ
พระพักตร์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายตรัสว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะพระพักตร์”

เชิงอรรถ :
1 สิกขาบทเล็กน้อย พระสังคีติกาจารย์ในที่ประชุมสังคายนาครั้งแรกมีความเห็นต่างกันเป็น 5 พวก คือ
พวกที่ 1 เห็นว่า นอกจากปาราชิก 4 สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ 2 เห็นว่า นอกจากปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ 3 เห็นว่า นอกจากปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท
อื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ 4 เห็นว่า นอกจากปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92
สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ 5 เห็นว่า นอกจากปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92
ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ในบรรดาความเห็นเหล่านี้ ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ
ไม่ให้ถอน (วิ.จู. (แปล) 7/441/382, ที.ม.อ. 216/200)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :165 }