เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี คหบดีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
4. ถ้าสมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในสมณบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี สมณบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ 4 ประการนี้แล มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ 4 ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
2. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
3. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
4. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ 4 ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์”1

เชิงอรรถ :
1ดู องฺ.จตุกฺก (แปล) 21/130/198-199

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :157 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร

ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร1

[210] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าได้ปรินิพพานใน
เมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งเช่นนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่นยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา
กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล
คหบดีมหาศาล2ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านั้น ท่าน
เหล่านั้นจะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้นว่า
‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็น
ขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากรุงกุสาวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศ
ตะวันออกและทิศตะวันตกยาว 12 โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง 7 โยชน์
กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี
เหมือนกับกรุงอาฬกมันทา ซึ่งเป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก
มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครม
เพราะเสียง 10 ชนิด ทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง
เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า
‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 241-242 หน้า 181 ในเล่มนี้
2 มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ 100-1,000 โกฏิ พราหมณมหาศาล
มีทรัพย์ 80 โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ 40 โกฏิ (ที.ม.อ. 210/193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :158 }