เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เสด็จไปยังควงไม้สาละคู่

บิณฑบาต 2 คราว อะไรบ้าง คือ
1. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
2. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
บิณฑบาต 2 คราวนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่า มีอานิสงส์
มากกว่า ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ’
กรรมที่จุนทกัมมารบุตรสั่งสมไว้เป็นไปเพื่ออายุ เป็นไปเพื่อวรรณะ เป็นไปเพื่อสุขะ
เป็นไปเพื่อยศ เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่’
อานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจของจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“ผู้ให้ย่อมเพิ่มพูนบุญ
ผู้สำรวมย่อมไม่ก่อเวร
ส่วนผู้ฉลาดย่อมละกรรมชั่วได้
ผู้นั้นดับได้แล้วเพราะสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ”1

ภาณวารที่ 4 จบ

เสด็จไปยังควงไม้สาละทั้งคู่

[198] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจะข้ามไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี ตรงสาลวันของพวก
เจ้ามัลละอันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี
ตรงสาลวันของพวกเจ้ามัลละ อันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา แล้วรับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยตั้งเตียง2 ระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้าน
ศีรษะไปทางทิศเหนือ เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนอง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.อุ. 25/75/217-219
2 เตียง ในที่นี้หมายถึงเตียงสำหรับพักผ่อนของพวกเจ้ามัลละ ที่มีอยู่ในสาลวันนั่นเอง (ที.ม.อ. 198/178)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :147 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เสด็จไปยังควงไม้สาละคู่

พระดำรัสแล้วตั้งเตียงระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้านพระเศียรไปทางทิศเหนือ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อน
พระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
เวลานั้น ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกนอกฤดูกาลบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกสาละ
เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายตกต้องพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต
ดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องพระสรีระของ
พระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต จุรณแห่งจันทน์อันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศ
โปรยปรายตกต้องพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต ดนตรีทิพย์ก็บรรเลง
ในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต ทั้งสังคีตทิพย์ก็บรรเลงในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต
[199] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกนอกฤดูกาลบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกสาละเหล่านั้นร่วงหล่น
โปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต ดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็
ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต จุรณแห่ง
จันทน์อันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
ตถาคต ดนตรีทิพย์ก็บรรเลงในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ทั้งสังคีตทิพย์ก็บรรเลง
ในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะเพียงเท่านี้ก็หาไม่ ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตาม
ธรรม1อยู่ ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยการบูชาอย่าง
ยอดเยี่ยม ฉะนั้น อานนท์ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจะเป็นผู้ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่’ อานนท์ เธอทั้งหลายพึง
สำเหนียกอย่างนี้แล”

เชิงอรรถ :
1 ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงการปฏิบัติหลักเบื้องต้นมีศีลเป็นต้น ให้สอดคล้องกับโลกุตตรธรรม
ปฏิบัติชอบ หมายถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นเอง ปฏิบัติตามธรรม หมายถึงการประพฤติหลัก
เบื้องต้นให้สมบูรณ์ (ที.ม.อ. 199/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :148 }