เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

[192] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละพระนามว่าปุกกุสะ1 เป็นสาวกของ
อาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางไกลจากกรุงกุสินาราไปกรุงปาวา เห็นพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ด้วย
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องมีอยู่ว่า อาฬารดาบส
กาลามโคตร เดินทางไกลแวะลงข้างทางที่ควงไม้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกล เวลานั้นเกวียน
ตั้ง 500 เล่มได้ผ่านท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ติด ๆ กันไป
ขณะนั้น บุรุษคนหนึ่งกำลังเดินตามหลังหมู่เกวียนมาเข้าไปหาท่านอาฬารดาบส
กาลามโคตรถึงที่อยู่แล้ว ได้ถามท่านอาฬารดาบสดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านเห็นเกวียน 500 เล่ม ผ่านไปบ้างหรือไม่’
ท่านอาฬารดาบสตอบว่า ‘เราไม่เห็นเลย ผู้มีอายุ’
‘ท่านได้ยินเสียงหรือไม่’
‘เราไม่ได้ยิน ผู้มีอายุ’
‘ท่านคงหลับกระมัง’
‘เราไม่ได้หลับ ผู้มีอายุ‘
‘ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ’
‘เรายังมีอยู่ ผู้มีอายุ’
‘ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่ได้เห็นเกวียนตั้ง 500 เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป
ทั้งไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าทาบของท่านเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลีบ้างไหม’
‘เป็นอย่างนั้น ผู้มีอายุ’

เชิงอรรถ :
1 ขณะนั้นเจ้าปุกกุสะประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเพชรพลอย ซึ่งถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของพวกเจ้ามัลละ
ที่มีการผลัดเปลี่ยนกันครองราชย์ตามวาระ ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงวาระจะประกอบอาชีพทางการค้า (ที.ม.อ.
192/173)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :141 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

บุรุษนั้นมีความคิดดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิต
ทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ดังที่ท่านอาฬารดาบส ผู้ยังมี
สัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่เห็นเกวียนตั้ง 500 เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป ทั้งไม่ได้ยินเสียง’
เขาประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วจากไป”
[193] พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสะว่า “ปุกกุสะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร อย่างไหนทำได้ยากกว่ากัน เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน (ระหว่าง) ผู้ยังมีสัญญา
ตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนตั้ง 500 เล่มที่ผ่านติด ๆ กันไป ทั้งไม่ได้ยินเสียง กับผู้ที่
ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ก็ไม่ได้เห็น
และไม่ได้ยินเสียง”
ปุกกุสะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน 500 เล่ม 600 เล่ม
700 เล่ม 800 เล่ม 900 เล่ม 1,000 เล่ม ฯลฯ เกวียน 100,000 เล่ม
จะเปรียบกันได้อย่างไร แท้จริง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก
ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ก็ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียง อย่างนี้แหละทำได้ยากกว่าและ
เกิดขึ้นได้ยากกว่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุกกุสะ คราวหนึ่ง เราพักอยู่ที่โรงกระเดื่อง เขตกรุง
อาตุมา เวลานั้น ฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา 2 คนพี่น้อง
และโคงาน 4 ตัว ถูกฟ้าผ่าใกล้โรงกระเดื่อง ขณะนั้น หมู่มหาชนในกรุงอาตุมา
ออกไปมุงดูชาวนา 2 คนพี่น้องและโคงาน 4 ตัวที่ถูกฟ้าผ่า เราออกจากโรง
กระเดื่อง จงกรมอยู่ที่กลางแจ้งใกล้ประตูโรงกระเดื่อง บุรุษคนหนึ่งออกมาจากหมู่
มหาชนเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ได้ไหว้เรา ยืน ณ ที่สมควร เราได้ถามบุรุษนั้นดังนี้ว่า
‘ผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั่นชุมนุมกันทำไม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เดี๋ยวนี้เอง ขณะที่ฝนกำลังตก
ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา 2 คนพี่น้องและโคงาน 4 ตัวถูกฟ้าผ่า
หมู่มหาชนชุมนุมกันเพราะเหตุนี้ ท่านไปอยู่เสียที่ไหนเล่า’
เราตอบว่า ‘เราก็อยู่ที่นี้แหละ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านเห็นหรือไม่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :142 }