เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

[192] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละพระนามว่าปุกกุสะ1 เป็นสาวกของ
อาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางไกลจากกรุงกุสินาราไปกรุงปาวา เห็นพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ด้วย
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องมีอยู่ว่า อาฬารดาบส
กาลามโคตร เดินทางไกลแวะลงข้างทางที่ควงไม้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกล เวลานั้นเกวียน
ตั้ง 500 เล่มได้ผ่านท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ติด ๆ กันไป
ขณะนั้น บุรุษคนหนึ่งกำลังเดินตามหลังหมู่เกวียนมาเข้าไปหาท่านอาฬารดาบส
กาลามโคตรถึงที่อยู่แล้ว ได้ถามท่านอาฬารดาบสดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านเห็นเกวียน 500 เล่ม ผ่านไปบ้างหรือไม่’
ท่านอาฬารดาบสตอบว่า ‘เราไม่เห็นเลย ผู้มีอายุ’
‘ท่านได้ยินเสียงหรือไม่’
‘เราไม่ได้ยิน ผู้มีอายุ’
‘ท่านคงหลับกระมัง’
‘เราไม่ได้หลับ ผู้มีอายุ‘
‘ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ’
‘เรายังมีอยู่ ผู้มีอายุ’
‘ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่ได้เห็นเกวียนตั้ง 500 เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป
ทั้งไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าทาบของท่านเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลีบ้างไหม’
‘เป็นอย่างนั้น ผู้มีอายุ’

เชิงอรรถ :
1 ขณะนั้นเจ้าปุกกุสะประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเพชรพลอย ซึ่งถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของพวกเจ้ามัลละ
ที่มีการผลัดเปลี่ยนกันครองราชย์ตามวาระ ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงวาระจะประกอบอาชีพทางการค้า (ที.ม.อ.
192/173)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :141 }