เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] สังเวชนียธรรม

ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลายพึงเรียน เสพ เจริญ
ทำให้มากด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้น
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คืออะไร
คือ

1. สติปัฏฐาน 4___2. สัมมัปปธาน 4
3. อิทธิบาท 4___4. อินทรีย์ 5
5. พละ 5___6. โพชฌงค์ 7
7. อริยมรรคมีองค์ 8”

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล คือ ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลาย
พึงเรียน เสพ เจริญ ทำให้มากด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรง
อยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

สังเวชนียธรรม
(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช)

[185] จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด อีกไม่นาน
การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก 3 เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่
โง่ ฉลาด มั่งมี และยากจน ล้วนต้องตาย1
ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/87/368

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :131 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สุกบ้าง ดิบบ้าง
ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด”
พระสุคตศาสดาได้ตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“วัยของเราแก่หง่อม
ชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะจากพวกเธอไป
เราทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว
พวกเธอจงอย่าประมาท มีสติ มีศีลบริสุทธิ์
มีความดำริมั่นคงดี รักษาจิตของตนไว้
ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”1

ภาณวารที่ 3 จบ

การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

[186] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง2 รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของ
ตถาคต มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังภัณฑุคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.สุ. 25/584/45
2 อย่างช้างมอง หมายถึงทรงหันพระองค์กลับหลังอย่างที่พญาช้างมอง คือ พญาช้างไม่อาจจะเอี้ยวคอ
มองข้างหลัง ต้องหันกลับทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น เพราะพระอัฏฐิก้านพระศอเป็นชิ้นเดียวกัน
ไม่มีข้อต่อจึงไม่อาจจะเอี้ยวพระศอมองข้างหลังได้ แต่จะไม่เหมือนกับช้างมอง เพราะมีพุทธานุภาพ จึงทำ
ให้แผ่นดินนี้หมุนไปเหมือนกับแป้น (กุลาลจกฺกํ) โดยทำพระผู้มีพระภาคให้มีหน้าตรงต่อกรุงเวสาลี (ที.ม.อ.
186/168)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :132 }