เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
ข้าพระองค์ได้เห็นพระสุขภาพของพระองค์แล้ว ได้เห็นพระองค์ทรงอดทนต่อทุกข-
เวทนาแล้ว ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ข้าพระองค์รู้สึก
มืดทุกด้าน แม้ธรรม1 ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว เพราะพระอาการไข้ของ
พระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า ‘พระผู้มีพระภาคจะยัง
ไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปรารภภิกษุสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด
อย่างหนึ่ง”
[165] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังได้อะไรในเรา
อีกเล่า ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีในไม่มีนอก2 ในเรื่องธรรมทั้งหลาย ตถาคตไม่มี
อาจริยมุฏฐิ3 ผู้ที่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์
จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก ผู้นั้นจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นแน่ แต่ตถาคตไม่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า
ภิกษุสงฆ์จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก แล้วทำไมตถาคตจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์
กล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งอีกเล่า บัดนี้ เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน
ผ่านวัยมามาก เรามีวัย 80 ปี ร่างกายของตถาคตประหนึ่งแซมด้วยไม้ไผ่ ยังเป็น
ไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตสบาย
ขึ้นก็เพราะในเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และ
เพราะดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น (ที.ม.อ. 164/149)
2 ไม่มีในไม่มีนอก หมายถึงไม่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการแบ่งธรรมหรือแบ่งบุคคล(ผู้ฟัง) เช่น ผู้ที่คิดว่า
เราจะไม่แสดงธรรมประมาณเท่านี้แก่บุคคลอื่น ซึ่งว่าทำธรรมให้มีใน แต่จะแสดงธรรมประเภทเท่านี้
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำธรรมให้มีนอก ส่วนผู้ที่คิดว่า เราจะแสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทำบุคคลให้มีใน ไม่แสดง
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำบุคคลให้มีนอก (ที.ม.อ. 165/149)
3 อาจริยมุฏฐิ แปลว่า กำมือของอาจารย์ อธิบายว่า มือที่กำไว้ ใช้เรียกอาการของอาจารย์ภายนอก
พระพุทธศาสนาที่หวงวิชา ไม่ยอมบอกแก่ศิษย์ขณะที่ตนเองยังหนุ่ม แต่จะบอกแก่ศิษย์ที่ตนรัก ขณะที่ตน
ใกล้จะตายเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถือตามคติเช่นนี้ (ที.ม.อ. 165/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :110 }