เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม1

[163] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในอัมพ-
ปาลีวันแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไป
ยังเวฬุวคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเวฬุวคาม ประทับอยู่ในเวฬุวคามนั้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบกรุง
เวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนเรา
จะจำพรรษาในเวฬุวคามนี้”
พวกภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจำพรรษารอบกรุงเวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน
ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำ
พรรษาในเวฬุวคามนั้น
[164] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ได้เกิดอาการพระประชวร
อย่างรุนแรงมีทุกขเวทนา2อย่างแสนสาหัสจวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมี
สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึงทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้อุปัฏฐาก
ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้ความเพียร3
ขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาการพระประชวรนั้น
ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ อาการพระประชวรจึงสงบ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายจาก
พระประชวร หายจากพระอาการไข้ไม่นาน ได้เสด็จออกจากพระวิหารไปประทับนั่ง
บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) 19/375/222-223
2 ทุกขเวทนา ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกเจ็บปวด เป็นอาการของทุกข์ในไตรลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้แก่ผู้ที่เป็น
พระอรหันต์ มิใช่ทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทหรือในอริยสัจ พระผู้มีพระภาคทรงข่มทุกขเวทนานี้ด้วยความเพียร
(ที.ม.อ. 164/148-149)
3 ความเพียร ในที่นี้มี 2 อย่าง คือ (1) ความเพียรที่เป็นบุพภาค ได้แก่ การบริกรรมผลสมาบัติ (2) ความเพียร
ที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ (ที.ม.อ. 164/149, ที.ม.ฏีกา 164/178)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :109 }