เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

[158] อานนท์ ข้อที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วดับชีพนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่เมื่อผู้นั้น ๆ ดับชีพแล้ว พวกเธอเข้ามาหาตถาคตถามเรื่องนั้น นั่นเป็นการรบกวน
ตถาคต ฉะนั้น เราจะแสดงหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม1เป็นเครื่องมือให้อริยสาวก
มีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิด
ในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดใน
แดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
[159] หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อ
ประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดน
เปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า‘ คือ
อะไร
คือ พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค”
2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล2 ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้า
มาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”

เชิงอรรถ :
1 แว่นธรรม หมายถึงธรรมเป็นเครื่องส่องดูตนเองจนสามารถพยากรณ์ตนได้ ในที่นี้ ได้แก่ อริยมรรคญาณ
(ที.ม.ฏีกา 158/175) ดูเทียบ ม.มู. (แปล) 12/74/66, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/52/86
2 ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. 2/54/158)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :103 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

3. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
ถูกต้อง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล 4 คู่ คือ 8 บุคคล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
4. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ1 ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิ
ครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อานนท์ นี้แล คือหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้
เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในตำหนักอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[160] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนาทิกคาม รับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังกรุงเวสาลีกัน” ท่านพระ-
อานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
เสด็จถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน2รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 ศีลที่พระอริยะชอบใจ หมายถึงศีลที่ประกอบด้วยมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความสำรวมทุกชนิด
(ที.ม.อ. 159/146, องฺ.จตุกฺก.อ. 2/52/349)
2 อัมพปาลีวัน หมายถึงสวนมะม่วงของหญิงคณิกาชื่ออัมพปาลี ซึ่งถวายเป็นที่พักแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธาน (ที.ม.อ. 160/146)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :104 }