เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพราะไม่เห็นอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง
เราและเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไป
ในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลยาวนาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ 4
เราและเธอทั้งหลายจึงถอนภวเนตติได้
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่โกฏิคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า1

[156] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังนาทิกคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จถึงนาทิกคาม ประทับอยู่ที่พระตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) 19/1004-1006/505-509

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :100 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุสาฬหะที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
ภิกษุณีนันทาที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกสุทัตตะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสิกาสุชาดาที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกกกุธะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกการฬิมภะ ฯลฯ อุบาสกนิกฏะ ฯลฯ อุบาสกกฏิสสหะ ฯลฯ
อุบาสกตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกสันตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกภฏะ ฯลฯ
อุบาสกสุภฏะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
[157] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุสาฬหะ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุณีนันทาเป็นโอปปาติกะ1 เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุทัตตะเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่ภพนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสิกาสุชาดาเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ2ในวันข้างหน้า
อุบาสกกกุธะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

เชิงอรรถ :
1 โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพ เช่น
เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. 171/149) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดในภพชั้นสุทธาวาส
(ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) 5 ชั้นมีชั้นอวิหา เป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสใน
ภพชั้นสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. 2/87-88/282-283)
2 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค 3 เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.ม.อ.
175/145)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :101 }