เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 15. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌาย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่มานัต1 สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌาย์”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่อัพภาน2 สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌาย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม3 คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม4แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือ
พึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึง
ทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ
พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

เชิงอรรถ :
1 มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แปลว่า นับ หมายถึงนับ
ราตรี 6 ราตรี ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิดก่อน จึงจะขอ
มานัตได้ แต่ถ้าไม่ได้ปกปิดไว้ สามารถขอมานัตได้ แล้วประพฤติมานัต 6 ราตรี (กงฺขา.อ. 178)
2 อัพภาน เป็นชื่อวุฏฐานวิธีที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ภิกษุผู้ประพฤติมานัตครบ 6 ราตรีแล้ว ขออัพภาน
จากสงฆ์ 20 รูป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ถือว่าภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นบริสุทธิ์ สมควรอยู่
ร่วมกับภิกษุสงฆ์ต่อไป (กงฺขา.อ. 178-179)
3 ทำกรรม หมายถึงลงโทษ
4 ตัชชนียกรรม คือ การขู่, การปราม (วิ.ม. 5/407-408/204-205)
นิยสกรรม คือ การถอดยศ, การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. 5/412/207,423/212)
ปัพพาชนียกรรม คือ การไล่ออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. 5/413/208)
ปฏิสารณียกรรม คือ การให้ระลึกความผิด (วิ.ม. 5/414/208)
อุกเขปนียกรรม คือ การกันออกจากหมู่, การยกออกจากหมู่ (วิ.ม. 5/415/208)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :86 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 15. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องตัดเย็บ สัทธิวิหาริกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌาย์จะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำการขวน
ขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌาย์” เมื่อจะ
ย้อมจีวร พึงย้อม พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย
ไม่พึงหลีกไป
สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตร
ของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่
พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึง
สั่งภิกษุบางรูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึง
พาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึง
สั่งภิกษุบางรูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย
สัทธิวิหาริกไม่บอกลาอุปัชฌาย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออกไป
ต่างถิ่น1 ถ้าอุปัชฌาย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอุปัชฌาย์นั้น
จะหาย
อุปัชฌายวัตตกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงไปอยู่ที่อื่น (สารตฺถ.ฏีกา 3/83/290)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :87 }