เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 14. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว ทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ
มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชะโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับเสด็จกลับ ต่อมา
พระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนั้นเป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม”
พิมพิสารสมาคมกถา จบ

14. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ว่าด้วยสารีบุตรและโมคคัลลานะบรรพชา
[60] สมัยนั้น สัญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยบริษัท
ปริพาชกหมู่ใหญ่จำนวน 250 ท่าน ครั้งนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติ
พรหมจรรย์อยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก ได้ตั้งกติกากันไว้ว่า “ผู้ใดบรรลุอมตธรรม
ก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง”
ขณะนั้นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ มีกิริยาที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า
เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ
สารีบุตรปริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง
ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า “ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง บรรดาพระ
อรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่ ถ้ากระไร
เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือท่านชอบใจธรรมของใคร” แล้วคิดว่า “บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่สมควรที่จะถาม
ภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร เราควรติดตาม
ภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้เป็นหนทางที่ผู้มีความต้องการรู้แล้ว”
ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :72 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 14. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น สารีบุตรปริพาชกจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า
“ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช
อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”
พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์
นั้น”
“ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร”
“ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดง
ธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจความโดยย่อแก่ท่าน”
ทีนั้น สารีบุตรปริพาชกกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า
“เอาเถอะ ผู้มีอายุ จะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด
จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น
ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”

พระอัสสชิแสดงธรรม
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชกว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”1

เชิงอรรถ :
1 ธรรมที่เกิดแต่เหตุ คือ ขันธ์ 5 ได้แก่ตัวทุกข์
เหตุแห่งธรรม คือ สมุทัย
ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น คือ นิโรธและมรรคมีองค์ 8 (วิ.อ. 3/60/30)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :73 }