เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 2. อชปาลกถา
2. อชปาลกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ

เรื่องทรงแสดงธรรมเป็นเหตุให้เป็นพราหมณ์
[4] ครั้นล่วงไป 7 วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นโพธิพฤกษ์ ไปยังควงต้นอชปาลนิโครธ1 ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธเป็นเวลา 7 วัน
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ2ผู้หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืน ณ ที่สมควรแล้วแล
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
ด้วยเหตุเพียงไรหนอ ก็และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พราหมณ์ใด ลอยบาปธรรมเสีย ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน3เรียนจบพระเวท4อยู่จบพรหมจรรย์5
พราหมณ์นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าววาทะว่า เราเป็นพราหมณ์โดยธรรม
อชปาลกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทรหรือกร่าง
ของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(วิ.อ. 3/4/8; PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and
WILLIAM STEDE)
2 หุหุกชาติ คือ ชอบตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบเที่ยวตวาดว่า
หึ หึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ดู ขุ.อุ. 25/4/96)
3 สำรวมตน หมายถึงมีจิตมุ่งมั่นอยู่ในภาวนาหรือสำรวมด้วยศีลสังวร (วิ.อ. 3/4/9)
4 เรียนจบพระเวท หมายถึงบรรลุมรรคญาณ 4 (โสดาปัตติมรรค,สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตต-
มรรค) หรือเรียนจบเวท 3 (ฤคเวท,ยชุรเวท,สามเวท) (วิ.อ. 3/4/9)
5 อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงจบมรรคพรหมจรรย์ (วิ.อ. 3/4/9)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :7 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 3. มุจลินทกถา
3. มุจลินทกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์

เรื่องทรงเปล่งอุทานปรารภความสุข
[5] ครั้นล่วงไป 7 วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นอชปาลนิโครธไปยังควงต้นมุจลินท์1 ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์เป็นเวลา 7 วัน
ครั้งนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอด
7 วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตนไปโอบรอบพระกายของ
พระผู้มีพระภาคด้วยขนด 7 รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือพระเศียรด้วยหวังว่า
“ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน อย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค”
ครั้น 7 วันผ่านไป พญานาคมุจลินท์รู้ว่า ฝนหายปลอดเมฆแล้ว จึงคลาย
ขนดออกจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือ
ถวายอภิวาทอยู่เบื้องพระพักตร์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถา
ความสงัด2เป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่

เชิงอรรถ :
1 มุจลินท์ คือ ต้นจิกนา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้
เป็นเจ้าแห่งต้นมุจละ (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.535, COL. 1, Edited by T.W. RHYS
DAVIDS and WILLIAM STEDE)
2 ความสงัด ในที่นี้หมายถึงธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง คือ นิพพานนั่นเอง (วิ.อ. 3/5/10)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :8 }