เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 8. มารกถา
ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น
ด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุ
เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก 61 รูป
บรรพชากถา จบ

8. มารกถา
ว่าด้วยมาร

เรื่องส่งพระอรหันต์ 60 รูป ไปประกาศศาสนา
[32] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราพ้นแล้วจากบ่วง1ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ
ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์
ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุ
ทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

เชิงอรรถ :
1 บ่วง ในที่นี้ หมายถึง โลภะ (วิ.อ. 3/32/19)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :40 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 8.มารกถา
เรื่องมาร
[33] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์1คล้องไว้แล้ว
ท่านได้ถูกผูกด้วยเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะท่านสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
มารกราบทูลว่า
“บ่วง นี้เที่ยวไปในอากาศ มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”2
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”3
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
มารกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 บ่วงทิพย์ บ่วงมนุษย์ คือบ่วงกิเลสที่เป็นทิพพกามคุณและกามคุณของมนุษย์ (สารตฺถ.ฏีกา 3/33/244)
2-3 สํ.ส. 15/151/135

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :41 }