เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความ
เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง
โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่
ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสทั้งสองนี้ ได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกา(ผู้กล่าว
ถึงรัตนะทั้ง 3 ว่าเป็นสรณะ)เป็นคู่แรก ในโลก
ครั้นแล้ว มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้นำของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคกับท่านพระยสะด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มี
พระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่ง ณ ที่
สมควร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดาและภรรยาเก่าของ
ท่านพระยสะเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะจากไป

เรื่องการบรรพชาของสหาย 4 คนของพระยสะ
[30] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ 4 คน คือ วิมละ สุพาหุ
ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสีได้ทราบข่าวว่า
“ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”
ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและ
บรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหา
ท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :37 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ท่านพระยสะได้พาสหายคฤหัสถ์ 4 คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ 4 คนเหล่านี้ คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ
เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสี ขอพระองค์โปรดประทาน
โอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา 2. สีลกถา
3. สัคคกถา 4. กามาทีนวกถา
5. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง
นั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อผู้อื่นในคำของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วย
ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น
ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก 11 รูป
เรื่องการบรรพชาของสหาย 4 คนของพระยสะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :38 }