เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา 2. สีลกถา
3. สัคคกถา 4. กามาทีนวกถา
5. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี
ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง
มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ
ย้อมได้เป็นอย่างดี
เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง 3 ว่าเป็นสรณะ)
เป็นคนแรก ในโลก

ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[28] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต
ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :34 }