เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [3. วัสสูปนายิกขันธกะ] 119. รวมเรื่องที่มีในวัสสูปนายิกขันธกะ
เรื่องหมู่บ้านถูกน้ำท่วม เรื่องเสนาสนะถูกน้ำท่วม
เรื่องชาวบ้านพากันอพยพไปเพราะโจรภัย
เรื่องทรงอนุญาตให้ตามทายกมีจำนวนมากกว่า
เรื่องไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือประณีตเป็นต้น
เรื่องสตรีนิมนต์ เรื่องหญิงแพศยานิมนต์ เรื่องสาวเทื้อนิมนต์
เรื่องบัณเฑาะก์นิมนต์ เรื่องพวกญาตินิมนต์
เรื่องพระราชานิมนต์ เรื่องพวกโจรนิมนต์
เรื่องพวกนักเลงนิมนต์ เรื่องพบขุมทรัพย์
เรื่องทำลายสงฆ์ 8 วิธี เรื่องเข้าจำพรรษาในคอกโค
เรื่องเข้าจำพรรษาในหมู่เกวียน เรื่องเข้าจำพรรษาในเรือ
เรื่องเข้าจำพรรษาในโพรงไม้ เรื่องเข้าจำพรรษาบนค่าคบไม้
เรื่องเข้าจำพรรษาในที่แจ้ง เรื่องภิกษุไม่มีเสนาสนะจำพรรษา
เรื่องเข้าจำพรรษาในกระท่อมผี เรื่องเข้าจำพรรษาในร่ม
เรื่องเข้าจำพรรษาในตุ่มน้ำ
เรื่องตั้งกติกาไม่เป็นธรรม เรื่องรับคำจะจำพรรษา
เรื่องทำอุโบสถนอกวิหาร เรื่องรับคำที่จะเข้าจำพรรษาต้น
เรื่องรับคำที่จะเข้าจำพรรษาหลัง
เรื่องไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไป เรื่องมีกิจจำต้องทำหลีกไป
เรื่องพักอยู่ 2 - 3 วันแล้วหลีกไปด้วยสัตตาหะกรณียะ
เรื่องอีก 7 วันจะครบ 4 เดือน เรื่องภิกษุกลับมาไม่กลับมา
พึงพิจารณาตามแนวทางตามลำดับหัวข้อเรื่อง
วัสสูปนายิกขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :330 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [4. ปวารณาขันธกะ] 120. อผาสุวิหาร
4. ปวารณาขันธกะ

120. อผาสุวิหาร
ว่าด้วยการอยู่จำพรรษาไม่ผาสุก

เรื่องภิกษุหลายรูปเข้าจำพรรษาในแคว้นโกศลมาเฝ้าพระศาสดา
[209] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปซึ่งเคยเห็นเคยคบกัน
เข้าจำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียง ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
อย่างผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต” แล้วปรึกษากันต่อไปว่า “ถ้าพวกเราจะไม่
ทักทายไม่ปราศรัยกันและกัน รูปใดบิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นพึง
ปูอาสนะ จัดน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหาร
ที่เหลือ1 ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ รูปใดบิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่รูป
ก่อนฉันเหลือ ถ้าต้องการพึงฉัน ถ้าไม่ต้องการ พึงเททิ้งยังที่อันปราศจากของ
เขียวสด หรือเทลงน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นพึงเก็บอาสนะ น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ แล้วเก็บน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดหอฉัน
รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หม้อชำระว่างเปล่า รูปนั้นพึงตักใส่ ถ้าไม่สามารถ
พึงกวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยยก ไม่พึงเอ่ยวาจาเพราะเหตุนั้นเลย ด้วยอุบาย
อย่างนี้แล พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
เป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นก็ไม่ทักทายไม่ปราศรัยกันและกัน รูปใดบิณฑบาตกลับ
จากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นก็ปูอาสนะ จัดน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

เชิงอรรถ :
1 ภาชนะสำหรับใส่อาหารส่วนที่เหลือซึ่งนำออกจากบาตร (สารตฺถ.ฏีกา 3/466/430)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :331 }