เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์
เปิดประตูให้ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตของยสกุลบุตร”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรได้เดินต่อไปยังประตูเมือง พวกอมนุษย์ก็เปิดประตูให้
ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของ
ยสกุลบุตร” หลังจากนั้น ยสกุลบุตรจึงเดินต่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
[26] ครั้นราตรีย่ำรุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้
ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรได้เปล่งอุทานขึ้น ณ ที่ไม่ไกล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นดังนี้ว่า “ยสะ ที่นี่1 ไม่วุ่นวาย ที่นี่
ไม่ขัดข้อง มาเถิด ยสะ จงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”
จึงถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ
ทรงประกาศ
1. ทานกถา (เรื่องทาน)
2. สีลกถา (เรื่องศีล)
3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)2
5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) แก่ยสกุลบุตร
ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
1 ที่นี่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระนิพพาน (วิมติ.ฏีกา 2/26/120)
2 แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :32 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
เมื่อทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา1ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ยสกุลบุตร ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

บิดาตามหายสกุลบุตร
[27] ครั้นรุ่งเช้า มารดาขึ้นไปบนปราสาทไม่พบยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐี
คหบดีถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “ท่านคหบดีเจ้าข้า
ยสะบุตรของท่านหายไปไหน”
ฝ่ายเศรษฐีคหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง 4 ทิศแล้ว ส่วนตนเองไปยังป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ จึงตามไปยังที่นั้น พระผู้มีพระภาค
ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงมีพระดำริ
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขาร(การบันดาลทางฤทธิ์) ให้เศรษฐีคหบดี
ผู้นั่งที่นี่ไม่เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นั่น” จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น
ลำดับนั้น เศรษฐีคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพบยส
กุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เชิญท่านนั่งลงก่อนเถิด บางทีท่านนั่งที่นี่แล้ว
จะพึงพบยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นี่ก็ได้”
เศรษฐีคหบดีร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า เรานั่งที่นี่จักพบยสกุลบุตรผู้นั่ง
อยู่ที่นี่” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
1 สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ทรงเห็นด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เอง
ก่อนใครในโลก (วิ.อ. 3/293/181, สารตฺถ.ฏีกา 3/26/237, ที.สี.ฏีกา อภินว. 2/298/350)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :33 }