เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [3. วัสสูปนายิกขันธกะ] 113. อันตรายอนาปัตติวัสสเฉทวาร
เรื่องไม่ได้โภชนะธรรมดาหรือประณีตเป็นต้น
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ไม่ได้
โภชนาหารธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้า
จำพรรษา ไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ ภิกษุเหล่านั้น
พึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ แต่ไม่ได้โภชนาหารที่สบาย ภิกษุเหล่านั้น
พึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการและได้โภชนาหารที่สบาย แต่ไม่ได้เภสัช
ที่สบาย ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติ
เนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ ได้โภชนาหารที่สบาย ได้เภสัชที่สบาย
แต่ไม่ได้อุปัฏฐากผู้สมควร ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย”
ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องสตรีนิมนต์
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สตรีนิมนต์ภิกษุผู้เข้าจำพรรษาว่า “ท่านจง
มาเถิดเจ้าข้า ดิฉันจะถวายเงิน ทอง นา สวน พ่อโค แม่โค ทาส ทาสีแก่ท่าน
หรือจะยกลูกสาวให้เป็นภรรยาของท่าน ดิฉันจะเป็นภรรยาของท่าน หรือจะนำสตรี
อื่นมาให้เป็นภรรยาของท่าน” ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า จิตกลับกลอกเร็วนัก สักหน่อยจะเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ของเราก็ได้
พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :315 }