เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
[19] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
ด้วยธรรมีกถา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุ
อันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ
ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็น
ธรรมดา”
ท่านทั้ง 2 นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง 2 พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง 2 จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปอีกว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง 2 จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง 2 นั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวายแล้ว
ก็ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือด้วยธรรมีกถา ภิกษุ 3 รูปเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
นำสิ่งใดมา ทั้ง 6 รูป ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
โอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
ท่านทั้ง 2 นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง 2 พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระองค์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :26 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง 2 จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง 2 จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง 2 นั้น

อนัตตลักขณสูตร1
[20] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็น อย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า
“เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า
“สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้
จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขาร

เชิงอรรถ :
1 สํ.ข. 17/59/55

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :27 }