เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 94. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้มีความไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
เมื่อหมดความไม่แน่ใจ ก็จักทำคืนอาบัตินั้น ดังนี้ แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์
ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สงฆ์เข้าจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งต้อง
สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทัน
ในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติ
นั้นในสำนักของท่าน ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่ง ไปชั่ว
เวลา 7 วัน ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเรา จักทำคืน
อาบัตินั้นในสำนักของท่าน”

เรื่องไม่รู้จักชื่อและโคตรอาบัติ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จัก
ชื่อและโคตร1ของอาบัตินั้น ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัด
ระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียน
ถามว่า “ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ”
ภิกษุพหูสูตตอบว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้อง
อาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ
สงฆ์หมู่นี้ทั้งหมดต้องอาบัตินี้”
ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง
อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด”

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงกลุ่มหรือหมวดของอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :259 }