เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 92. อาปัตติปฏิกัมมวิธี
92. อาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขอาบัติ

เรื่องภิกษุต้องอาบัติในวันอุโบสถ
[169] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติในวันอุโบสถนั้น ภิกษุนั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงทำ
อุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุ
ต้องอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ขอรับ
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านเห็นหรือ”
ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า “ขอรับ ผมเห็น”
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านพึงสำรวมต่อไป”

ไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุมีความไม่แน่ใจ
ในอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจในอาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ
เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจ จักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์
แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เรื่องแสดงสภาคาบัติ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แสดงสภาคาบัติ1
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 สภาคาบัติ แปลว่า อาบัติที่มีวัตถุเสมอกัน เช่นภิกษุ 2 รูปต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนาหารในเวลา
วิกาลเหมือนกัน อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะความผิดเดียวกันอย่างนี้ เรียกว่า สภาคาบัติ (วิ.อ. 3/169/140)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :256 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 93. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงแสดงสภาคาบัติ รูปใดแสดง
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รับการแสดงสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ รูปใด
รับ ต้องอาบัติทุกกฏ”

93. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
ว่าด้วยวิธีเปิดเผยอาบัติ

เรื่องระลึกอาบัติได้เมื่อจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
[170] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งระลึกอาบัติได้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ภิกษุนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่
พึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ภิกษุระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า ผมต้อง
อาบัติชื่อนี้ ขอรับ ผมลุกจากที่นี้แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น แล้วทำอุโบสถ ฟัง
ปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีความไม่แน่ใจในอาบัติ เมื่อกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียง1อย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจใน
อาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจจักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ
ฟังปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เชิงอรรถ :
1 ภิกษุใกล้เคียง หมายถึงภิกษุที่ชอบพอกัน (วิ.อ. 3/170/141)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :257 }