เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 90. อุมมัตตกสมมติ
90. อุมมัตตกสมมติ
ว่าด้วยการสมมติภิกษุวิกลจริต
[167] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์มีกิจต้องทำ”
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุวิกลจริตชื่อว่าคัคคะอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุคัคคะนั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุวิกลจริตนี้มี 2 ประเภท คือ
1. ภิกษุวิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรม
ได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกไม่ได้เลยบ้าง
2. ภิกษุวิกลจริตมาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง
ไม่มาเลยบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุวิกลจริต 2 ประเภทนั้น รูปใดที่ยังระลึก
อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง
ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุมมัตตก
สมมติแก่ภิกษุวิกลจริตเห็นปานนั้น

วิธีให้อุมมัตตกสมมติและกรรมวาจาให้อุมมัตตกสมมติ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงให้อุมมัตตกสมมติอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง
ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง
มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตกสมมติแก่
ภิกษุคัคคะ ผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึก
สังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง
ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรม
ก็ได้ นี้เป็นญัตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :251 }