เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหม สดับเสียงของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
แล้วก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วย
ประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้า หาประมาณมิได้
ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญา
โกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะนั่นแล

ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[18] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น1 ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึง
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด”2 แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสดา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใครเลย (อปรปฺปจฺจโย-ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา 3/18/226)
2 จงมาเป็นภิกษุเถิด หมายถึงคำประกาศอนุมัติการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ขอบวชคือเท่ากับประกาศว่า
จงมารับการบรรพชาอุปสมบทตามที่ขอ (สารตฺถ.ฏีกา 3/18/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :25 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
[19] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
ด้วยธรรมีกถา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุ
อันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ
ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็น
ธรรมดา”
ท่านทั้ง 2 นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง 2 พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง 2 จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปอีกว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง 2 จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง 2 นั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวายแล้ว
ก็ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือด้วยธรรมีกถา ภิกษุ 3 รูปเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
นำสิ่งใดมา ทั้ง 6 รูป ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
โอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
ท่านทั้ง 2 นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง 2 พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระองค์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :26 }