เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ความรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ 4 เหล่านี้
3 รอบ 12 อาการอย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้
สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า “ความ
หลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้1อยู่ ธรรมจักษุ2อันปราศจากธุลีปราศ
จากมลทินได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
[17] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ทวยเทพ
ชั้นภุมมะกระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงให้
เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”3
ทวยเทพชั้นจาตุมหาราช สดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ สดับเสียงของทวยเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นยามา...
ทวยเทพชั้นดุสิต...
ทวยเทพชั้นนิมมานรดี...
ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ...

เชิงอรรถ :
1 เวยยากรณ์ ในที่นี้หมายถึงพระสูตรที่ไม่มีคาถา ประกอบด้วยคำถามคำตอบ (สารตฺถ.ฏีกา 3/16/220)
เป็นองค์อันหนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์ (วิ.อ. 1/26)
2 ธรรมจักษุ แปลว่า ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมรรคญาณ (วิ.อ. 3/56/27)
3 ใคร ๆ ในโลกปฏิเสธไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมตรัสรู้มาโดยชอบ และเพราะธรรมจักร
เป็นธรรมยอดเยี่ยม (เนตฺติ.อ. 9/ 63, เนตฺติ.วิ. 9/93)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :24 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหม สดับเสียงของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
แล้วก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วย
ประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้า หาประมาณมิได้
ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญา
โกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะนั่นแล

ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[18] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น1 ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึง
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด”2 แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสดา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใครเลย (อปรปฺปจฺจโย-ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา 3/18/226)
2 จงมาเป็นภิกษุเถิด หมายถึงคำประกาศอนุมัติการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ขอบวชคือเท่ากับประกาศว่า
จงมารับการบรรพชาอุปสมบทตามที่ขอ (สารตฺถ.ฏีกา 3/18/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :25 }