เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 75. สีมาสมูหนนา
วิธีถอนและกรรมวาจาถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
ภิกษุทั้งหลายพึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[145] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติไว้แล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตร
จีวรนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งใดที่
สงฆ์สมมติไว้แล้ว สงฆ์ถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งนั้นสงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องถอนสมานสังวาสสีมาภายหลัง
วิธีถอนและกรรมวาจาถอนสมานสังวาสสีมา
ภิกษุทั้งหลายพึงถอนสมานสังวาสสีมาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[146] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถ
เดียวกันนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันแห่งใดที่
สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์ถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่
เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :224 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 76. คามสีมาทิ
สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น สงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

76. คามสีมาทิ
ว่าด้วยคามสีมาเป็นต้น

อพัทธสีมา
[147] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสีมาที่สงฆ์ยังไม่ได้
สมมติ ยังไม่ได้กำหนดสีมา ภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยหมู่บ้านหรือนิคมใด เขตของหมู่บ้าน
นั้นเป็นคามสีมาบ้าง เขตของนิคมนั้นเป็นนิคมสีมาบ้าง สีมานี้ในหมู่บ้านหรือนิคม
ทั้งสองนั้นเป็นสมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าในป่าไม่มีหมู่บ้านชั่ว 7 อัพภันดรโดยรอบ สีมานี้ในป่านั้น
เป็นสมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน

เรื่องอุทกุกเขปสีมาในแม่น้ำเป็นต้น
ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา สมุทรทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา
ชาตสระ1ทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา
ภิกษุทั้งหลาย ในแม่น้ำ ในสมุทร หรือในชาตสระ ชั่วระยะชายมีสัณฐาน
ปานกลาง วักน้ำสาดไปโดยรอบเป็นอุทกุกเขปสีมา สีมานี้ในน่านน้ำเหล่านั้น เป็น
สมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน

เรื่องสีมาคาบเกี่ยว
[148] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 ชาตสระ หมายถึงสระที่เกิดเอง ไม่มีใครขุดไว้ น้ำไหลมาจากรอบข้างขังอยู่จนเต็ม (วิ.อ. 3/147/125)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :225 }