เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 73. อุโปสถปมุขานุชานนา
หน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น
พึงทักท้วง
พื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถสงฆ์ได้สมมติด้วยนิมิตเหล่านั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องภิกษุนวกะลงประชุมก่อน
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ ภิกษุผู้นวกะทั้งหลายลงประชุมกัน
ก่อนแล้วหลีกไปด้วยคิดว่า “ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายยังไม่มาเลย”
อุโบสถมีในเวลาวิกาล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายลงประชุมก่อน”

ทรงอนุญาตให้ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ อาวาสหลายแห่งมีสีมาร่วมกัน ภิกษุทั้งหลาย
ในอาวาสเหล่านั้น กล่าวแย้งกันว่า “ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์
จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรุงราชคฤห์นี้ อาวาสหลายแห่ง
มีสีมาร่วมกัน ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้น กล่าวแย้งกันว่า ‘ขอสงฆ์จงทำอุโบสถ
ในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา’ ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปต้องประชุมทำอุโบสถในที่แห่งเดียวเท่านั้น หรือภิกษุผู้เถระอยู่
ในอาวาสใดก็ต้องประชุมทำอุโบสถในอาวาสนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ
ภิกษุสงฆ์หมู่ใดพึงทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :220 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 74. อวิปปวาสสีมานุชานนา
74. อวิปปวาสสีมานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร

เรื่องกรุงราชคฤห์
[143] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะเดินทางจากอันธกวินทวิหารมายัง
กรุงราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำ ถูกน้ำพัดไปหน่อยหนึ่ง
จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะดังนี้ว่า “อาวุโส
ทำไม จีวรของท่านจึงเปียกเล่า”
ท่านพระมหากัสสปะกล่าวตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมเดินทางจากอันธกวินท
วิหารมายังกรุงราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำ ถูกน้ำพัด
ไปหน่อยหนึ่ง เพราะฉะนั้น จีวรของผมจึงเปียก”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมานสังวาสสีมา1 มีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์ก็จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร”2

วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์พึงสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นให้เป็นแดน
ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
1 สมานสังวาสสีมา ดู ข้อ 139 หน้า 215 (เชิงอรรถ)
2 แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ติจีวราวิปปวาส” หมายถึงสถานที่ที่สงฆ์กำหนด
เป็นเขตอยู่ปราศจากไตรจีวรโดยไม่ต้องอาบัติ (ดู วิ.มหา. (แปล) 2/473-47/10-11)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :221 }