เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 70. มหากัปปินวัตถุ
70. มหากัปปินวัตถุ
ว่าด้วยพระมหากัปปินเถระ

เรื่องมัททกุจฉิมฤคทายวัน
[137] สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า
“เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย
ความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงในใจของท่านพระมหา
กัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ ทรงหายไป ณ ภูเขาคิชฌกูฏมาปรากฏตรงหน้า
ท่านพระมหากัปปินะที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูลาดไว้
ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “กัปปินะ
เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ
หรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
อย่างนี้มิใช่หรือ”
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ทั้งหลาย1 พวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ
ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ซึ่งอุโบสถ พราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ เธอจงไปทำสังฆกรรม จะไม่
ไปไม่ได้”
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า “ไป พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 พราหมณ์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงภิกษุขีณาสพ (ดู วิ.อ. 3/1/5)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :214 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [2. อุโปสถขันธกะ] 71. สีมานุชานนา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นชัด ชวนให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงหายไปตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤค
ทายวัน มาปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้
แขนเข้า ฉะนั้น

71. สีมานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสีมา

สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา
[138] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติไว้ว่า ความพร้อมเพรียงมีกำหนดเขตเพียงอาวาสเดียวเท่านั้น” แล้วดำริ
ว่า “อาวาสหนึ่งมีการกำหนดเขตเท่าไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา ภิกษุ
ทั้งหลาย พึงสมมติสีมาอย่างนี้

วิธีสมมติสีมา
ในเบื้องต้นพึงทักนิมิต คือ

ปัพพตนิมิต (นิมิตคือภูเขา) ปาสาณนิมิต (นิมิตคือแผ่นหิน)
วนนิมิต (นิมิตคือป่า) รุกขนิมิต (นิมิตคือต้นไม้)
มัคคนิมิต (นิมิตคือหนทาง) วัมมิกนิมิต (นิมิตคือจอมปลวก)
นทีนิมิต (นิมิตคือแม่น้ำ) อุทกนิมิต (นิมิตคือน้ำ)

ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ
ทุติยกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :215 }