เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้ง
จิตเพื่อรู้ยิ่ง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร1
[13] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้รับสั่งกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ที่สุด 2 อย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ
1. กามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลาย (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขใน
กามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
2. อัตตกิลมถานุโยค(การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็น
ทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด 2 อย่างนั้น ตถาคตได้
ตรัสรู้อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ2 ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อ
ความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้
เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพานนั้นเป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 สํ.ม. 19/1081/367/, ขุ.ป. 31/30/358
2 จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. 3/13/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :20 }