เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 63. อุปสัมปทาวิธิ
วิธีแต่งตั้งตนและกรรมวาจา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าชื่อนี้ จะสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้
อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง

วิธีแต่งตั้งผู้อื่นและกรรมวาจา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง คือ ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ท่านผู้มีชื่อนี้พึงสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้
อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้น พึงเข้าไปหาอุปสัมปทาเปกขะกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เมื่อภิกษุผู้สอนซ้อม
ถามในท่ามกลางสงฆ์ถึงสิ่งที่เกิด สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี”
เจ้าอย่าสะทกสะท้าน อย่าเก้อเขิน ภิกษุผู้สอนซ้อมจักถามเจ้าอย่างนี้ว่า ‘อาพาธ
เช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู
เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่
ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ 20 ปีแล้วหรือ
เจ้ามีบาตรและจีวรครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร’

เรื่องห้ามผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน
ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน พระผู้มีพระภาครับ
สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะ ไม่พึงเดินมาพร้อมกัน
ภิกษุผู้สอนซ้อมพึงเดินมาก่อน แล้วประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :194 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 63. อุปสัมปทาวิธิ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ข้าพเจ้าสอนซ้อมเขาแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ผู้มีชื่อนี้พึงมาได้
พึงเรียกอุปสัมปทาเปกขะว่า “เจ้าจงเข้ามาเถิด”

คำขออุปสมบท
พึงให้อุปสัมปทาเปกขะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ ขออุปสมบทว่า
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ สงฆ์โปรดช่วยอนุเคราะห์ยก
ข้าพเจ้าขึ้นเถิด
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่ 2 สงฆ์โปรดช่วย
อนุเคราะห์ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่ 3 สงฆ์โปรดช่วย
อนุเคราะห์ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด

คำแต่งตั้งตนเพื่อถามอันตรายิกธรรม
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้
มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าพึงถามอันตรายิกธรรมกับผู้มีชื่อนี้ ดังนี้
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เราจะถามสิ่งที่เกิด
สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี” อาพาธเช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ
คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู เจ้าเป็นมนุษย์หรือ
เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดา
อนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ 20 ปีหรือ บาตรและจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ
เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :195 }