เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วย
ทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมากคลายความเพียร เวียนมาเพื่อ
ความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร
ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เอง
โดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดง
ธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
แม้ครั้งที่ 2 ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส
โคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยัง
มิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้
พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจัก
บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้
เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้”
ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า “ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :19 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 6.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้ง
จิตเพื่อรู้ยิ่ง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร1
[13] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้รับสั่งกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ที่สุด 2 อย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ
1. กามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลาย (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขใน
กามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
2. อัตตกิลมถานุโยค(การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็น
ทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด 2 อย่างนั้น ตถาคตได้
ตรัสรู้อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ2 ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อ
ความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้
เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพานนั้นเป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 สํ.ม. 19/1081/367/, ขุ.ป. 31/30/358
2 จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. 3/13/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :20 }