เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 40. นิสสยมุจจนกกถา
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาแล้ว จึงถอดดาลแจ้งภิกษุทั้งหลาย
ในบริเวณวิหารว่า “อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์จะเสด็จจาริกไปยัง
ทักขิณาคิรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา”
ภิกษุทั้งหลายเรียนชี้แจงว่า “ท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้
ภิกษุถือนิสสัยอยู่ 10 พรรษา และให้ภิกษุมีพรรษาครบ 10 ให้นิสสัยได้ พวกผม
จะต้องไปในทักขิณาคิรีชนบทนั้น ก็ต้องถือนิสสัย พักอยู่เพียงเล็กน้อย ก็ต้องกลับ
มาอีก และต้องถือนิสสัยอีกด้วย ถ้าพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของพวกผมไป
พวกผมก็จะไปด้วย ถ้าพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของพวกผมไม่ไป พวกผมก็จะ
ไม่ไป ท่านพระอานนท์ ความที่พวกผมมีจิตใจโลเลจักปรากฏ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปยังทักขิณาคิรีชนบทพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์จำนวนน้อย

40. นิสสยมุจจนกกถา
ว่าด้วยการถือนิสสัยและการพ้นนิสสัย
[103] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ทักขิณาคิรีชนบทตามพระอัธยาศัยแล้ว
ก็เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์ตามเดิมอีก ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาสอบถามว่า
“อานนท์ ตถาคตได้จาริกไปยังทักขิณาคิรีชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนน้อย
เพราะเหตุไร”
ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ถือนิสสัย
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถถือนิสสัยอยู่
5 พรรษา ให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาดถือนิสสัยอยู่จนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :157 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 40. นิสสยมุจจนกกถา
องค์ 5 แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัยไม่ได้
คือ
1. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
2. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
3. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
4. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
5. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (1)

องค์ 5 แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
1. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
2. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
3. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
4. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
5. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (2)

องค์ 5 แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ
1. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา 2. เป็นผู้ไม่มีหิริ
3. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ 4. เป็นผู้เกียจคร้าน
5. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :158 }