เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 35. กัมมารภัณฑวัตถุ
34. ทาสวัตถุ
ว่าด้วยทาสบรรพชา
[97] สมัยนั้น ทาสคนหนึ่งได้หนีไปบรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกเจ้านายพบเข้า
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้คือทาสของพวกเราคนนั้น เอาเถอะ พวกเราจงจับ
ภิกษุนั้นไว้”
มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนี้ เพราะพระ
เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า ‘กุลบุตรเหล่าใดได้
บรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้นใคร ๆ จะทำอะไรมิได้
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรเหล่านี้ปลอดภัย ใคร ๆ จะทำอะไรมิได้ ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรทั้งหลายจึงให้ทาสบรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนเป็นทาสไม่พึงให้บรรพชา รูปใด
ให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

35. กัมมารภัณฑวัตถุ
ว่าด้วยบุตรช่างทองผมจุกห้าแหยมบรรพชา
[98] สมัยนั้น บุตรช่างทองศีรษะโล้นคนหนึ่งทะเลาะกับมารดาบิดา ได้ไปยัง
อารามบรรพชาในหมู่ภิกษุ ต่อมา มารดาบิดาได้ออกตามหาบุตร ไปถึงอารามถาม
ภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านได้พบเด็กชายมีรูปร่างเช่นนี้บ้างไหม เจ้าข้า”
พวกภิกษุที่ไม่รู้เลยก็กล่าวว่า “พวกอาตมาไม่รู้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :151 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 36. อุปาลิทารกวัตถุ
พวกภิกษุที่ไม่เห็นเลยก็กล่าวว่า “พวกอาตมาไม่เห็น”
ขณะมารดาบิดาตามหาได้พบบุตรบรรพชาในหมู่ภิกษุจึงพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ไม่มีความละอาย ทุศีล
ชอบพูดเท็จ รู้อยู่แท้ ๆ ก็กล่าวว่า พวกอาตมาไม่รู้ เห็นอยู่ชัด ๆ ก็กล่าวว่า
พวกอาตมาไม่เห็น เด็กนี้ได้บรรพชาในหมู่ภิกษุเสียแล้ว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินมารดาบิดาของบุตรช่างทองผมจุกตำหนิ ประณาม
โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อปโลกน์1ต่อสงฆ์เพื่อ
การปลงผม”

36. อุปาลิทารกวัตถุ2
ว่าด้วยเด็กชายอุบาลีบรรพชา
[99] สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีเด็กชายผู้เป็นเพื่อนกัน 17 คน เด็กชาย
อุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กเหล่านั้น ครั้งนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้
ปรึกษากันดังนี้ว่า “เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบาย และไม่
ลำบากด้วยวิธีใดหนอ” ลำดับนั้นมารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้ปรึกษากันอีกว่า
“ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือ ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี
จะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” แต่ก็วิตกไปว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือ นิ้ว
มือจะระบม ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณ ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป
เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” และวิตกอีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียน
วิชาคำนวณก็จะแน่นหน้าอก ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงิน ด้วยวิธีอย่างนี้
เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี จะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” แล้วก็วิตก

เชิงอรรถ :
1 อปโลกน์ หมายถึงการบอกกล่าวแก่ที่ประชุมเพื่อให้รับทราบร่วมกัน หรือการสอบถามขอความเห็นชอบ
ร่วมกันในกิจของสงฆ์เช่นสอบถามการปลงผม การอุปสมบท การบรรพชา (วิ.อ. 3/98-9/65)
2 วิ.มหา. (แปล) 2/402/513

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :152 }