เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 25. อัญญติตถิยปุพพกถา
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มีหญิง
แพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงม่ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์
เป็นโคจร หรือไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญา
เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น อาจทำ อาจจัด แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่า
เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้มีฉันทะ
แรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้
ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ออกจากลัทธิของ
ครูใด เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนครูนั้น กล่าวติเตียนความเห็นของครูนั้น ความชอบใจ
ของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ
เมื่อเขากล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
ก็หรือออกจากลัทธิของครูใด เมื่อเขากล่าวสรรเสริญครูนั้น กล่าวสรรเสริญความ
เห็นของครูนั้น ความชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของ
ครูนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม
หรือพระสงฆ์ ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวน
ให้สงฆ์ยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้
กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้ มาแล้ว พึงให้อุปสมบท

เรื่องอัญเดียรถีย์เปลือยไม่โกนผม
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์เปลือยกายมา พึงแสวงหาจีวร
ซึ่งมีอุปัชฌาย์เป็นเจ้าของ ถ้ายังไม่ปลงผมมา สงฆ์พึงอปโลกน์เพื่อปลงผม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :141 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 26. ปัญจาพาธวัตถุ
เรื่องชฎิลบูชาไฟ
ภิกษุทั้งหลาย พวกชฎิลบูชาไฟมาแล้ว พึงให้อุปสมบท ไม่ต้องให้ปริวาสแก่
พวกเธอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชฎิลเหล่านั้นเป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที1

เรื่องอัญเดียรถีย์ศากยะ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าศากยะโดยกำเนิดเคยเป็นอัญเดียรถีย์มา ศากยะนั้นมาแล้ว
พึงให้อุปสมบท ไม่ต้องให้ปริวาสแก่ศากยะนั้น เราให้สิทธิพิเศษส่วนนี้เฉพาะแก่หมู่
ญาติ
อัญญติตถิยปุพพกถา จบ
ภาณวารที่ 7 จบ

26. ปัญจาพาธวัตถุ
ว่าด้วยอาพาธ 5 ชนิด

เรื่องอันตรายิกธรรม
[88] สมัยนั้น ในแคว้นมคธเกิดโรคระบาดขึ้น 5 ชนิด คือ (1) โรคเรื้อน
(2) โรคฝี (3) โรคกลาก (4) โรคมองคร่อ2 (5) โรคลมบ้าหมู พวกมนุษย์ถูกโรค 5
ชนิดเบียดเบียน พากันไปหาหมอชีวกโกมารภัจ กล่าวว่า “ขอโอกาส คุณหมอ
ช่วยรักษาพวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”
หมอชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมมีกิจมาก มีงานต้องทำมาก
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ พระสนมและภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ผมก็ต้องพยาบาล ผมไม่สามารถรักษาได้”
มนุษย์เหล่านั้นกล่าวว่า “คุณหมอ ทรัพย์สมบัติยกให้ท่านทั้งหมด ทั้งพวก
ข้าพเจ้ายอมเป็นทาสของท่าน ขอโอกาส ขอความกรุณารักษาพวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า “กรรมมีอยู่ ผลของกรรมมีอยู่ ” (วิ.อ. 3/87/55)
2 โรคมองคร่อ คือโรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ห้ามผู้ที่
เป็นโรคนี้บวชเป็นภิกษุ(พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :142 }